เกร็ดความรู้หลักความเชื่อและความจริงในทองคำ


    ในช่วงที่หุ้นผันผวนสูง เงินดอลลาร์อ่อนค่า และ  FED ประกาศดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปรับตัวลง นักวิเคราะห์ในตลาดลงทุน คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเจอกับคำถามยอดฮิตว่า “ทองคำน่าสนใจไหม?” และ “กำลังจะขึ้นใช่ไหม” ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะทองคำ ดูจะเป็นสินทรัพย์ที่ครองใจคนได้ทั่วทั้งโลก ยิ่งในช่วงที่ผ่านมา (ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน) หรือ ในตลาดการเงินก็ดูจะเป็นใจกับทองคำไปเสียหมด จนต้องกลับมาวิเคราะห์อีกครั้งว่าอะไรคือ “ความเชื่อ” หรือ “ความจริง” ในตลาดการเงิน ที่กำลัง “หนุน” ให้ทองปรับตัวขึ้นต่อ และมีเหตุการณ์ไหนอาจ “หยุด” ความร้อนแรงของทองคำไว้ได้


    ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่นักลงทุนมักใช้ในการถือทอง คือ ทิศทางตลาดทุนกำลังชะลอตัว จึงต้องหาสินทรัพย์กระจายความเสี่ยงเข้ามาเสริม ซึ่งความคิดนี้ไม่ได้ถูกทั้งหมด เพราะทองคำไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัย และไม่ได้มีความผันผวนสวนทางกับตลาดทุนโลก ความสัมพันธ์ (Correlation) กับเงินดอลลาร์ หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ และตราสารหนี้ กับทองเป็นบวกทั้งหมดราว 0.1-0.3 ยิ่งกว่านั้น ทองคำก็มักปรับตัวขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวมากกว่าหดตัวจากผลของความมั่งคั่ง (Wealth Effect) ไม่ต่างจากสินทรัพย์การเงินอื่นๆ

    หมายความว่าการถือทองคำในพอร์ต ไม่ได้ลดความเสี่ยงด้วยการกระจายตัวของสินทรัพย์ (Diversify) เหมือนกรณีถือสินทรัพย์ที่มี Correlation ติดลบ (เช่นบอนด์) กล่าวให้ถูกต้อง การซื้อทองควรเป็นการลดความเสี่ยงจากหุ้นที่ผันผวน และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรับความเสี่ยงบนสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไป (Concentration Risk)

    เหตุผลถัดมาที่เรามักได้ยินเสมอคือ ราคาทองจะปรับตัวขึ้นลงสวนทางกับดอกเบี้ยแท้จริงในสหรัฐฯ ซึ่งไม่ผิด แต่ในอดีตและปัจจุบัน ความสัมพันธ์นี้เกิดจากคนละเหตุผล


    ช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 (วิกฤต Subprime) ทองคำจะมีความสัมพันธ์สวนทางกับดอกเบี้ยที่แท้จริง (ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยหักด้วยเงินเฟ้อ) ด้วยการเป็นตัวแทนของ “สินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ” ช่วงที่ทองโดดเด่นคือทศวรรต 1970 ที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำแต่เงินเฟ้อสูง ในช่วงนั้นราคาทองคำปรับตัวขึ้นถึง 21% เมื่อหักเงินเฟ้อ ชนะทั้งหุ้นและบอนด์ที่ขาดทุนและแพ้เงินเฟ้อทั้งหมด

    ความสัมพันธ์ดังกล่าวดูจะหายไปหมดแล้วในปัจจุบัน เห็นได้จากการที่ทองคำแทบไม่มีความสัมพันธ์กับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆที่เป็นตัวแทนเงินเฟ้อเลย แต่ที่ความสัมพันธ์กับดอกเบี้ยแท้จริงกลับยังมีอยู่ เป็นเพราะทองสามารถปรับตัวขึ้นได้เมื่อนโยบายการเงินสหรัฐฯผ่อนคลาย ทั้งจากสภาพคล่องและความกังวลกับเศรษฐกิจที่ปรับตัวสูง หรือสรุปได้ว่าปัจจุบันทองคำถูกเปลี่ยนฐานะไปเป็น “สินทรัพย์ป้องกันดอกเบี้ยต่ำ” แทนที่

    และความเชื่อสุดท้ายคือ ทองคำเป็นสิ่งทดแทนดอลลาร์เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯมีปัญหา แท้จริงเป็นเพียงแค่การคาดเดาที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น

    ไม่ใช่เพราะดอลลาร์แข็งแกร่งมาก แต่ในอดีตสหรัฐฯและทั่วโลก วางตำแหน่งดอลลาร์ไว้เป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ เพื่อทดแทนทองคำตั้งแต่ปี 1944 แม้จะเลิกตรึงดอลลาร์กับทองในปี 1971 ก็ยังสามารถใช้ดอกเบี้ยประคับประคองมูลค่าของดอลลาร์ไว้ได้

นอกจากนี้ ความมั่งคั่งของโลกก็มักอยู่ฝั่งตะวันตก ในอดีตแม้เศรษฐกิจจะแย่ จึงไม่มีใครกล้าที่จะทิ้งดอลลาร์ลงจริงๆ แม้ในช่วง Great Depression ทศวรรต 1930 ที่บอนด์ปรับตัวขึ้นถึง 37% แต่ราคาทองคำกลับแพงขึ้นเพียง 8%

อย่างไรก็ดี เราก็ประมาทไม่ได้ เพราะความเชื่อนี้อาจเป็นจริงในอนาคต


    ปัจจุบัน สถานการณ์ทุกอย่างกลับมาซับซ้อน สหรัฐฯใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ แต่กลับห้ามไม่ให้หลายประเทศถือดอลลาร์ด้วยเหตุผลทางการค้า ขณะเดียวกัน ความมั่งคั่งก็เพิ่มมากขึ้นในโลกตะวันออก จนเหตุผลทั้งหมดที่เคยทำให้ทองไม่สามารถแทนที่ดอลลาร์ได้นั้นอาจไม่มีอีกต่อไปในอนาคต

    สรุปได้ว่า ในระยะสั้น แนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ คือเหตุผลหลักจะกำหนดทิศทางของทอง และในระยะยาว การปรับมุมมองความเสี่ยงของนักลงทุนคือสิ่งที่เราต้องจับตาไม่กระพริบ
   


    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนต้องไม่ลืมคือ “การซื้อทองเป็นการเก็งกำไรไม่ใช่การลงทุน” ไม่ว่าเราจะชอบคำนิยามนี้หรือไม่ ทองคำก็เป็นสินทรัพย์ที่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนด้วยตัวเองได้ และนักลงทุนจะได้รับเพียงกำไรหรือขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาเท่านั้น การถือทองมากเกินไปจึงไม่ใช่สิ่งที่ปลอดภัยแน่นอน


    การมีสินทรัพย์ที่หลากหลาย ประกอบกับทองคำ 5-15% ของพอร์ต จึงดูจะเป็นทางเลือกที่น่าจะเหมาะสมที่สุดในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่กำลังจะมาถึง

    ถึงตรงนี้ เชื่อว่าเราคงเข้าใจบทบาทของทองคำมากขึ้น และต่อจากนี้ ยิ่งเราได้ยินคำถามถึงทองบ่อยขึ้น ก็ยิ่งต้องให้ความสนใจกับเหตุผลของการซื้อทองคำมากกว่าทุกครั้ง

👇 กดปุ่มแชร์ความรู้ได้ที่นี่

🔥 บทความที่ได้รับความนิยม

👨‍💻👩‍💻 จำนวนการดูหน้าเว็บวันนี้

- SPONSORED | ผู้สนับสนุน -