ย้อนรอยประวัติศาสตร์ด้านการเงินก่อนมาเป็นสกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency)

    ทุกวันนี้สกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) ได้ถูกกลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะในต่างประเทศหรือในประเทศไทยบ้านเรา ตั้งแต่จับกลุ่มพูดคุยสนทนาทั่วไปลามไปจนถึงในกลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่ ทำไมสกุลเงินดิจิตอลถึงกลายเป็นเรื่อง ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ เช่นนี้? แล้วเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไร? เพื่อที่จะตอบคำถามเหล่านี้ เราจะมาย้อนรอยประวัติศาสตร์ของการเงินกันว่าก่อนมาเป็นสกุลเงินดิจิตอลในอนาคตอันใกล้นี้ ผ่านอะไรมาบ้างอย่างมีสาระความรู้มาฝากเพื่อนเทรดเดอร์ทุกคนกันครับ

นิยามของเงิน

   เงินหมายถึงสิ่งที่ได้รับการยอมรับให้มีมูลค่าและสามารถใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการได้ ดังนั้นสิ่งของต่างๆรอบตัวเราก็สามารถใช้เป็นเงินได้ถ้าได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

   ในปัจจุบันเงินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นเป็นเหรียญ, ธนบัตร หรือแม้แต่เงิน E-Wallet ที่อยู่บนแอพลิเคชั่นธนาคารออนไลน์ก็ตาม มูลค่าไม่ได้อยู่ที่ตัวเหรียญหรือธนบัตรซะทีเดียว แต่ที่เราสามารถใช้มันในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้เป็นเพราะว่าทุกฝ่ายยอมรับให้มันสามารถใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนได้

   เพื่อให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เราต้องย้อนกลับไปในอดีตเพื่อดูว่าบรรพบุรุษของเราพวกเค้าใช้อะไรเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนก่อนที่จะมาเป็นเงินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้?

จุดเริ่มต้นของการนำมาแลกเปลี่ยน


   นักโบราณคดีเชื่อว่ารูปแบบดั้งเดิมที่สุดของการแลกเปลี่ยน คือการนำสิ่งที่ตนมีมาแลกกับสิ่งที่ต้องการจากคนอื่น (Barter) ยกตัวอย่างเช่น นำข้าวสาร หรือ ผักและผลไม้ นำมาแลกกับเนื้อสัตว์หรือวัว 1 ตัวจากนักล่า หรือนำแร่ไปแลกกับอาวุธกับช่างตีเหล็ก ซึ่งการแลกเปลี่ยนแบบนี้คาดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ 10,000 กว่าปีก่อนคริสต์ศักราช (10,000 B.C.) หรืออาจนานยิ่งกว่านั้น

จุดกำเนิดเหรียญ 

    ในการแลกเปลี่ยนแบบเดิมๆ จำเป็นต้องใช้เวลาในการเจรจาและมีขั้นตอนที่วุ่นวายกว่าจะบรรลุข้อตกลงกันได้ ดังนั้นจึงเริ่มมีการนำสิ่งของที่มีมูลค่ามาเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน โดยมีบันทึกว่าเมื่อ 9,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช (9,000 B.C.) ปศุสัตว์จำพวกวัว, ควาย, แพะ หรือแกะ ถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกับผลผลิตทางการเกษตรในบางวัฒนธรรม ดังนั้นปศุสัตว์จึงเปรียบเสมือนกับเงินรุ่นแรก หรือเมื่อประมาณ 1,200 ปีก่อนคริสต์ศักราช (1,200 B.C.) วัฒนธรรมที่มีถิ่นฐานตั้งอยู่ใกล้กับทะเลหรืออยู่บนเกาะ เริ่มนำเปลือกหอยมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เนื่องจากเปลือกหอยมีจำนวนจำกัดและพกพาได้ค่อนข้างง่ายและสะดวก

    ส่วนเหรียญแรกที่มีบันทึกไว้ในโลกตะวันตก เกิดขึ้นประมาณ 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช (600 B.C.) วัฒนธรรมที่เป็นต้นกำเนิดของเหรียญรุ่นแรกๆอยู่ในแถบยุโรป ในพื้นที่เคยถูกเรียกว่าอาณาจักร Lydia ปัจจุบันคือประเทศตุรกี โดยกษัตริย์ Alyattes แห่ง Lydia ทรงมีพระราชโองการให้สร้างเหรียญขึ้นมาด้วย ทองคำเขียว ซึ่งเป็นโลหะผสมระหว่างทองและเงิน โดยกระบวนการที่ใช้สร้างเหรียญขึ้นมาเรียกว่าการ Minting เหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมาเหล่านี้ได้รับความนิยมจากบรรดาพ่อค้าในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากนั้นหลายๆประเทศจึงเริ่มยอมรับให้ใช้เหรียญแทนมูลค่า การใช้เหรียญจึงแพร่ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว

จุดกำเนิดธนบัตร

    แม้ว่าเหรียญที่ทำขึ้นจากโลหะจะมีความคงทนสูงแต่การพกพาเป็นจำนวนมากๆ ก็ทำให้มีน้ำหนักที่มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะกับบรรดาพ่อค้าที่ต้องเดินทางไปไหนต่อไหน การพกเหรียญเป็นจำนวนมากๆ นอกจากจะเทอะทะแล้วยังอาจเป็นอันตรายได้อีกด้วย จึงเริ่มมีแนวคิดสร้างเงินที่ทำขึ้นมาจากกระดาษหรือธนบัตร ซึ่งมีน้ำหนักเบาและพกพาได้ง่ายกว่า

    มีบันทึกว่าราชวงศ์จีนเป็นวัฒนธรรมแรกๆที่นำเหรียญไปฝากไว้ในท้องพระคลัง จากนั้นทางราชวังจะออกเอกสารที่ระบุมูลค่าของเหรียญที่ฝากเข้ามา เรียกว่าเป็นการผูกมูลค่าของเอกสารเข้ากับเหรียญที่ฝากเข้ามา เอกสารนั้นจึงสามารถใช้แทนมูลค่าในการซื้อขายได้ หากต้องการนำเหรียญออกมาก็เพียงแค่นำเอกสารนั้นไปคืนให้กับทางราชวัง

    ต่อมาเอกสารเหล่านี้ก็ค่อยๆถูกปรับมาให้มีการนำมูลค่าไปผูกเข้ากับทองคำ โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 การใช้ธนบัตรที่ผูกมูลค่าเข้ากับทองคำเป็นที่ยอมรับกันเกือบทั่วโลกเลยทีเดียว

จุดกำเนิดสกุลเงินประเทศ (Fiat Currency) 

     จุดเริ่มต้นของสกุลเงินประเทศ (Fiat Currency) ที่เราใช้กันทุกวันนี้ เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1931 โดยสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ประกาศยกเลิกมาตรฐาน Gold Standard หรือกฏหมายที่กำหนดให้ธนบัตรทุกใบต้องผูกมูลค่าเข้ากับทองคำ ถัดมาในปี ค.ศ. 1933 สหรัฐอเมริกาก็ได้ประกาศยกเลิกกฏหมายนี้เช่นกัน ส่งผลให้นานาประเทศเริ่มทำตามประเทศมหาอำนาจในยุคนั้น

     ซึ่ง Fiat Currency หมายถึงเงินที่ไม่มีการผูกมูลค่าเข้ากับสิ่งของที่มีค่าเช่น ทองคำ โดยคำว่า Fiat (เฟียต) มาจากภาษาละตินแปลว่า By decree หรือแปลภาษาไทยว่า ตามคำบัญชา ดังนั้น มูลค่า Fiat currency จึงมาจากความน่าเชื่อถือและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศหรือรัฐบาลที่เป็นผู้ออกเงิน
 
    ข้อดีของ Fiat Currency คือไม่ต้องมูลค่าเข้ากับสินทรัพย์ที่มีจำนวนจำกัดอย่างทองคำ รัฐบาลจึงสามารถสั่งพิมพ์เงินออกมาได้อย่างไม่จำกัด เหมาะสำหรับการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของทางรัฐบาลและตอบโจทย์กับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ


    แต่ข้อเสียสำคัญที่สุดของ Fiat Currency คือการที่ธนาคารเป็นผู้ควบคุมการออกเงิน ทำให้ธนาคารมีอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมเศรษฐกิจ อาจนำมาซึ่งปัญหาคอร์รัปชันหรือการบริหารที่ผิดพลาดเช่น หากพิมพ์เงินออกมามากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา เงินที่ถืออยู่ก็จะมีมูลค่าต่ำลง ตัวอย่างที่รุนแรงของที่สุดของภาวะเงินเฟ้อ (Hyperinflation) คือประเทศเวเนซุเอลาที่เงินหลักล้านแทบก็จะไร้ซึ่งมูลค่า

จุดกำเนิดสกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency)

    เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ข้อมูลทุกอย่างสามารถถูกเปลี่ยนให้มาอยู่ในรูปแบบดิจิตอลบนโลกออนไลน์ ที่ข้อมูลทุกอย่างสามารถถูกเพิ่มจำนวนและกระจายออกไปได้อย่างอิสระ แต่สำหรับเงินที่เป็นสิ่งที่มีมูลค่า หากทำให้เงินสามารถถูก Copy & Paste ได้เหมือนข้อมูลก็คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ดังนั้น ธนาคารจึงเข้ามาเป็นตัวกลางควบคุมเงินดิจิตอลเหล่านี้ การทำธุรกรรมในรูปแบบออนไลน์จึงต้องดำเนินการผ่านธนาคารทั้งหมด หรือที่เรียกว่า สกุลเงินดิจิทัลแบบ Centralized หรือ “ระบบรวมศูนย์”
 
    ***ถึงแม้การทำธุรกรรมแบบออนไลน์ด้วยเงินดิจิทัลจะมีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่โดยเนื้อแท้แล้วเงินดิจิตอลที่ใช้นั้นก็ยังคงเป็น Fiat Currency ที่ออกโดยธนาคาร เงินเหล่านี้มีโอกาสที่จะสูญเสียมูลค่าลงไปได้ ถ้าหากธนาคารพิมพ์เงินออกมาเพิ่ม
 
   เหรียญ Bitcoin จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นเงินดิจิตอลตัวแรกที่ไม่ถูกควบคุมโดยธนาคารหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เรียกว่าเป็นเงินดิจิตอลตัวแรกที่เป็น “Decentralized” หรือระบบกระจายศูนย์ อย่างแท้จริง ทำได้โดยการใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการบันทึกธุรกรรม


    ซึ่งเทคโนโลยี Blockchain เป็นการเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่ง แต่แทนที่จะเก็บข้อมูลไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว ข้อมูลธุรกรรมทั้งหมดของ Bitcoin จะถูกเก็บไว้ในครื่องคอมพิวเตอร์นับล้านเครื่องทั่วโลก โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกตรวจสอบให้ตรงกันอยู่เสมอ นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไม? ข้อมูลบนเครือข่ายของ Bitcoin ไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากเครือข่าย

    เมื่อทั่วโลกเริ่มเข้าใจคุณสมบัติของ Bitcoin และเริ่มมีการนำ Bitcoin มาใช้เป็นสื่อกลางเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันจริงๆ ทำให้มูลค่าของ Bitcoin จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามขนาดของเครือข่าย ซึ่งนอกจากนี้ผู้สร้าง Bitcoin ยังกำหนดให้ Bitcoin มีจำนวนจำกัดได้เพียง 21 ล้านเหรียญเท่านั้น อุปทานของ Bitcoin เลยมีจำกัด ไม่เหมือนกับ Fiat Currency ที่สามารถถูกพิมพ์ออกมาได้เรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจ Bitcoin ในฐานะการเงินแห่งอนาคต

    ทั้งนี้อย่างไรก็ตามสกุลเงินดิจิตอลก็ถูกจัดหมวดหมู่ว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงดังนั้นแล้วไม่ว่าเหรียญคริปโตใดๆ ผู้ที่สนใจก็ควรที่จะศึกษามันให้เข้าใจก่อนที่จะลงทุน




📊 
สมัครเว็บไซต์ Bitkub คลิกที่นี่

🎥 รับชมวีดีโอสอนเบื้องต้น คลิกที่นี่

----------------------------------------------------------------------------

⚠️ จงเป็นนักลงทุนอย่างชาญฉลาดโปรดอ่านคำเตือนทุกครั้ง !!! Risk Warning : คำเตือน การลงทุนทั้งหลายล้วน มีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนและปฎิบัติด้วยตัวเอง - ผู้สนใจลงทุนควรใช้ข้อมูลในเว็บไซต์นี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น และอ่านนโยบายการเงินจากโบรกเกอร์ในแต่ละตลาดทุกครั้ง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอ้างอิงประกอบอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน · ในการลงทุน ซื้อ - ขายในตลาดลงทุนใด ๆ ผู้ลงทุนควรตระหนักถึงความเสี่ยงและความเป็นไปได้ที่จะได้รับเงินลงทุนคืนน้อยกว่าจำนวนเงินลงทุน - อย่าหลงเชื่อใครใดๆที่แนะนำว่ามีบริการโอนเงินดังกล่าว เพื่อรับฝากเงินลงทุน ซื้อ-ขาย แทนท่าน โดยที่ไม่ต้องทำเอง เพื่อป้องกันมิจฉาชีพหลอกเอาเงินทุนท่านไประดมทุน · การลงทุนมิใช่การฝากเงิน และจะไม่ได้รับการค้ำประกันจากสถาบันผู้รับฝากหรือหน่วยงานราชการใดๆ ทั้งสิ้น

👇 กดปุ่มแชร์ความรู้ได้ที่นี่

🔥 บทความที่ได้รับความนิยม

👨‍💻👩‍💻 จำนวนการดูหน้าเว็บวันนี้

- SPONSORED | ผู้สนับสนุน -